การสื่อสารใด ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตต้องผ่านช่องทางของสื่อตัวกลาง อย่างเช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เครือข่ายสังคม และเว็บไซต์เพื่อการค้นหา นโยบายกำกับดูแลความรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางในแง่เนื้อหาการสื่อสารเหล่านี้ มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ใช้งาน ทั้งในแง่เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในความเป็นส่วนตัว
เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสนับสนุนโครงสร้างเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่อยู่บนความสมดุลของความต้องการของภาครัฐกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ กลุ่มภาคประชาสังคมทั่วโลกได้ประชุมและเสนอกรอบหลักประกันขั้นพื้นฐานและแนวปฏิบัติที่ดีสุด ทั้งนี้โดยมีที่มาจากตัวบทของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ
นโยบายที่นำมาใช้โดยไม่มีการประกาศ มาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวด รุนแรง และไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน และการใช้นโยบายอย่างไม่คงเส้นคงวา ส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์และการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลและภาคเอกชน เป็นการจำกัดสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีของบุคคลและทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่คลุมเครือ ปิดกั้นความริเริ่มสร้างสรรค์ทางอินเทอร์เน็ต
ผู้กำหนดนโยบายและสื่อตัวกลางควรคำนึงถึงกรอบเหล่านี้ ในการจัดทำ รับรอง และแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่กำกับดูแลความรับผิดของสื่อตัวกลางกรณีที่เป็นเนื้อหาของ บุคคลที่สาม เรามีวัตถุประสงค์สนับสนุนการพัฒนาระบบความรับผิดที่ใช้ได้อย่างเป็นสากลและ สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ ที่มุ่งส่งเสริมความริเริ่มสร้างสรรค์พร้อมกับการเคารพสิทธิของผู้ใช้งานอย่างสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และหลักการปฏิบัติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)